Main Menu | | Book Detail
ในยุคสมัยที่หาผู้หาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองได้ยากเฉกเช่นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "ถวัติ ฤทธิเดช" ผู้นำกรรมกรรถรางที่หลายคนให้สมญานามว่า "วีรบุรุษคนแรกของขบวนการกรรมกรไทย" คือหนึ่งในคนที่ยืนหยัดต่อสู้ในเชิงหลักการและเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการยื่น "ฎีกา" เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่ชนชั้นกรรมกรพึงได้รับ และตั้งคำถามที่มาก่อนกาลถึงความฉ้อฉลของผู้ถืออำนาจรัฐในขณะนั้น หลังการปฏิวัติสยาม 2475 แม้กลุ่มผู้ถืออำนาจรัฐจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิม ถวัติยังคงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ไม่ให้รัฐบาลหรือนายทุนมากระทำการกดขี่และขูดรีดชนชั้นกรรมกร ด้วยอุดมการณ์ที่หนักแน่นนี้ จึงนำไปสู่กรณี "คดีพระปกเกล้า" ที่ถวัติยื่นฟ้องคดีอาญาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ "ทรงบริภาษใส่ความเป็นการหมิ่นประมาทข้าพเจ้า" เพราะถวัติเชื่อว่า "ในเมื่อพระมหากษัตริย์กระทำผิด ผู้ถูกประทุษร้ายหรือเสียหาย มีอำนาจฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้" หลังจากห่างหายไปเกือบ 17 ปี "แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย" ผลงานของ "ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์" เล่มนี้ หวนคืนสู่มือผู้อ่านอีกครั้ง เพื่อให้เรื่องราวของสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่กลับมามีตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีบทความพิเศษของ "ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" ที่ชวนให้ผู้อ่านได้เข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดเรื่อง "แรงงาน" พร้อมฉายให้เห็นอำนาจและพลังของชนชั้นกรรมกร เหมือนกับที่ "ถวัติ ฤทธิเดช" ได้แสดงออกมาให้ประจักษ์ชัดในหนังสือเล่มนี้แล้ว