Main Menu | | Book Detail
หนังสือเล่มนี้เป็นทั้งบันทึกส่วนตัวว่าด้วยการผจญภัยและประสบการณ์แปลกใหม่ยามอยู่ไกลบ้านไกลเมือง และเป็นตัวอย่าง "หลักฐานชั้นต้น" ชิ้นสำคัญของงานเขียนในยุคอาณานิคมจากมุมมองของเจ้าอาณานิคม แง่มุมของคนหนุ่มที่มีความโรแมนติกอยู่ในตัว มองโลกลึกซึ้งคมคาย แต่ก็ช่างติไม่แพ้กัน ด้วยเหตุที่ "อ็องรี มูโอต์" ไม่ใช่นายทหารหรือเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐ จึงกล่าวได้ว่าบันทึกของเขาเป็นไปด้วยความสนใจใคร่รู้โดยแท้ บันทึกการเดินทางของเขากลายเป็นงานเขียนที่มีชีวิตชีวา "ไม่ธรรมดา" จากการสอดแทรกแง่คิด มุมมอง อารมณ์ขัน และการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ประสบพบเห็นตลอดทางออกมาเป็นความเรียงน้ำเสียงสนุกๆ ซึ่งระหว่างบรรทัดแฝงด้วยทัศนคติที่ผสมผสาน ระหว่างชายผิวขาวเจ้าอาณานิคม กับ "นักท่องเที่ยวฝรั่ง" ที่ทึ่งและตะลึงกับ "ของแปลก" สมัยรัชกาลที่ 4 ในบันทึกของมูโอต์นั้น เรียกได้ว่าเป็น "พระเอก" ของเล่ม ผู้อ่านจึงได้รับข้อมูลภาพสะท้อนที่เป็นจริงของบ้านเมืองเราในหลายๆ ภูมิภาคเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตลอดจนความคิดเห็นต่อสังคม วิถีชีวิตท้องถิ่น และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐในสมัยนั้น ส่วน "ปราสาทนครวัด" ก็สร้างชื่อเสียงให้มูโอต์ในโลกตะวันตกจากการทำหน้าที่ "กระบอกเสียง" บอกเล่าถึงการมีอยู่ของซากปรักหักพังในดินแดนกัมพูชา และพรรณนาความยิ่งใหญ่อลังการของศาสนสถานแห่งนี้ออกมาด้วยตัวอักษรและภาพสเกตช์รายละเอียดตระการตา จนหลายคนเข้าใจผิดไปว่า นายฝรั่งรายนี้คือผู้ค้นพบนครวัด! ปิดท้ายด้วย "เมืองลาว" ดินแดนสุขสงบงดงามสุดปลายเส้นทางมรณะที่เรียกขานกันว่า "ป่าดงพญาไฟ" เมืองลาวคือจุดหมายในการเดินทางเที่ยวหลังซึ่งเต็มไปด้วยความลำบากแสนสาหัสของมูโอต์ แต่เขาก็ไปถึงเมืองหลวงพระบางได้ในที่สุด แม้จะเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่ต้องจบชีวิตลงในวัย 35 ด้วยก็ตาม